วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558


อาหารชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อม

  โดย  พญ.ณัฐชาดา ตันสืบเชื้อสาย*
พญ.ดลฤดีศิรินิล**
*กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบลเจริญกรุงประชารักษ์
**กลุ่มงานจักษุวิทยา โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์


          โรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-related macular degeneration [AMD]) เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของจุดรับภาพบริเวณจอตา สาเหตุนั้นเชื่อว่าเกิดจากการที่เซลล์ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ โรคนี้แบ่งตามความรุนแรงได้เป็น 2 ประเภท คือ
                1. โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (dry [non-exudative] AMD) พบในคนไข้ส่วนใหญ่ถึง 90%
                2. โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (wet [exudative] AMD) พบได้น้อยกว่าแต่มีการดำเนินโรคที่เร็วและรุนแรงกว่า

ผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นภาพไม่ชัดเจน เห็นภาพบิดเบี้ยว หรือมีจุดดำบังตรงกลาง โรคนี้เป็นสาเหตุหลักของภาวะสายตาเลือนรางและตาบอดในผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปในประเทศพัฒนาแล้ว โดยพบอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นตามอายุ


         มีปัจจัยหลายอย่างทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม โดยพบว่าอายุเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด และการสูบบุหรี่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้ประมาณ 2 เท่า นอกจากนี้ โรคความดันโลหิตสูง การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง และโรคอ้วนก็มีส่วนทำให้เกิดโรคนี้ได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่ยังคงไม่แน่ชัด ได้แก่ การผ่าตัดต้อกระจก แสงแดด และเพศหญิง

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่มีหลักฐานชัดเจนว่าสามารถชะลอหรือป้องกันการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมระยะรุนแรง (advanced AMD) ได้ อย่างไรก็ตามได้มีการศึกษาถึงบทบาทของวิตามินและแร่ธาตุต่างๆต่อการดำเนินโรค โดยผลการศึกษาที่ถูกอ้างถึงอย่างมากคือ การศึกษาของ AREDS (The Age Related Eye Disease Study) ซึ่งพบว่าการบริโภควิตามินและแร่ธาตุปริมาณสูงต่อเนื่องเป็นประจำสามารถลดความเสี่ยงของการดำเนินโรคจอประสาทตาเสื่อมได้
           AREDS เป็นการศึกษาแบบ Multicentered, randomized, placebo-controlled, clinical trial ถึงผลของการได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณสูงกับการดำเนินโรคจอประสาทตาเสื่อม ในผู้ป่วย 4757 คน อายุระหว่าง 55-80 ปี โดยติดตามเป็นระยะเวลาเฉลี่ย 6.3 ปี สูตรอาหารเสริมที่ใช้ในการทดลองประกอบด้วย vitamin C 500 mg/day, vitamin E 400 IU/day, beta carotene 15 mg/day, zinc oxide 80 mg/day และ cupric oxide 2 mg/day (เพื่อป้องกัน zinc-induced copper deficiency) ศึกษาโดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 4 กลุ่มตามความรุนแรงของโรค ได้แก่ ประชากรปกติ (no AMD), ผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมระยะเริ่มแรก (Early AMD), ระยะปานกลาง (Intermediate AMD) และระยะรุนแรง (Advanced AMD) โดยให้ผู้ป่วยแต่ละกลุ่มบริโภคอาหารเสริมที่เป็น antioxidant เท่านั้น, zinc เท่านั้น, antioxidant และ zinc และ placebo (ยาหลอก) เป็นประจำทุกวัน ผลการศึกษาพบว่าในกลุ่ม
         ·       ผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมระยะปานกลาง (Intermediate AMD) การบริโภค antioxidant และ zinc, zinc เท่านั้น และ antioxidant เท่านั้น สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมระยะรุนแรง (Advanced AMD) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติถึง 25%, 21% และ 17% ตามลำดับ
         ·       ผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมระยะรุนแรง (Advanced AMD) พบว่าการบริโภค antioxidant และ zinc, zinc เท่านั้น และ antioxidant เท่านั้น สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดตาบอดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติถึง 19%, 11% และ 10% ตามลำดับ
             

 แต่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมระยะเริ่มแรก (Early AMD) ไม่พบว่าการบริโภคอาหารเสริมจะมีประโยชน์ต่อการดำเนินโรค เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงน้อยมาก (<2%) ที่จะกลายเป็นระยะรุนแรง (Advanced AMD) และไม่พบว่าสามารถป้องกันการเกิดโรคในประชากรปกติ (no AMD) ได้ โดยผลการศึกษาของ AREDS นี้ถือเป็นมาตรฐานของการดูแลผู้ป่วยความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมระยะรุนแรง (Advanced AMD) ในปัจจุบัน (ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมระยะปานกลาง [Intermediate AMD] และระยะรุนแรง [Advanced AMD] ในตาข้างใดข้างหนึ่ง)
ถึงแม้ว่า การบริโภคอาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุนั้นสามารถชะลอการดำเนินโรคจอประสาทตาเสื่อมได้จริง แต่ปริมาณที่ใช้ในการศึกษานั้นมากกว่าปกติมาก โดย vitamin C 500 mg นั้นมีปริมาณมากถึง 5 เท่าของปริมาณที่ได้จากอาหารที่คนทั่วไปบริโภคในแต่ละวัน นอกจากนั้น vitamin E 400 IU และ zinc 80 mg ก็มีปริมาณมากถึง 13 และ 5 เท่าของปริมาณสารอาหารที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน (Recommended Dietary Allowance [RDA]) จะเห็นได้ว่าการที่ร่างกายจะได้รับสารอาหารตามปริมาณที่ AREDS ได้แนะนำไว้นั้นต้องได้รับจากอาหารเสริมหรือการบริโภคอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณที่มากกว่าปกติ เป็นที่ทราบกันดีว่าผักและผลไม้เป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุต่างๆที่สำคัญ ตารางข้างล่างแสดงอาหาร 5 ชนิดที่มี vitamin C, E, beta carotene และ zinc เป็นส่วนประกอบในปริมาณมาก



ถึงแม้ว่าการบริโภคอาหารข้างต้นจะไม่ได้รับวิตามินและแร่ธาตุมากเท่ากับการบริโภคอาหารเสริม
แต่อย่างไรก็ตาม การบริโภคผักต่างๆก็ไม่ได้ก่อให้เกิดโทษแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย
ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมหันมาบริโภคผักชนิดต่างๆให้มากขึ้น
.....................................................................................




เอกสารอ้างอิง
1.               Kanski JJ, Bowling B. Clinical Ophthalmology: A Systematic Approach. 7th ed. Philadelphia: Elsevier/Saunders; 2011:611-616.
2.               The Age Related Eye Disease Study Research Group. A randomized, placebo-controlled, clinical trial of high-dose supplementation with vitamins C and E, beta carotene, and zinc for age-related macular degeneration and vision loss: AREDS Report No. 8. Arch Ophthalmol 2001;119(10):1417-1436.
3.               National Agricultural Library. National Nutrient Database for Standard Reference Release 27 [Internet]. [cited 2015 Jun 7]. Available from: http://ndb.nal.usda.gov/ndb/nutrients/.
4.               Office of Dietary Supplements. Vitamin E Fact Sheet for Health Professionals [Internet]. updated 2013 Jun 5; cited 2015 Jun 7]. Available from: http://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminE-HealthProfessional/.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น